BumQ 4

ผู้ค้นพบโลกใหม่

เจฟฟรี มาร์ซี
ผู้ค้นพบโลกใหม่
วงการดาราศาสตร์
กำลังทึ่งผลงานของชายซึ่งเคยเป็นที่ขบขันของผู้คน

อกนึกภาพว่ามีมนุษย์ต่างดาวบนดาวเคราะห์ดวงที่สามจากดาวฤกษ์ห่างจากโลก 30 ปีแสงซึ่งกำลังเฝ้ามองดวงอาทิตย์ของเราผ่านกล้องดูดาวกำลังสูง คุณคิดว่าเขาจะมองเห็นเราไหม
คำตอบคือไม่มีทาง เขาจะเห็นดวงอาทิตย์เป็นเพียงจุดแสงเล็กๆ ส่วนโลกจะถูกแสงอาทิตย์กลบกลืม


การที่เจฟฟรี มาร์ซี นักดาราศาสตร์จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สามารถตรวจพบดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นได้จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า โลกเป็นดาวเพียงดวงเดียวในจักรวาลที่มีสภาวะเหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่ยิ่งมาร์ซีค้นพบดาวเคราะห์มากขึ้น โอกาสที่เราจะพบมนุษย์ต่างดาวก็เพิ่มมากขึ้นไปด้วย

นักดาราศาสตร์วัย 45 ผู้นี้ไม่ได้เป็นคนเดียวที่ค้นพบดาวเคราะห์ "นอกระบบสุริยะ" ซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเรา แต่ทีมงานของเขายังพบดาวเคราะห์ถึงสองในสามของประมาณ 30 ดวงที่ค้นพบขณะนี้ มาร์ซีหลงใหลในดาวเคราะห์ เขาเป็นตัวอย่างของบุคคลที่บรรลุความใฝ่ฝันและพิสูจน์จนโลกยอมรับ

าร์ซีตกหลุมรักจักรวาลตั้งแต่อายุ 14 ปี เมื่อพ่อแม่ซื้อกล้องดูดาวให้ "เขายกกล้องหายเข้าห้องไปเลย" แม่ของมาร์ซีเล่าว่า "พวกเราไม่เห็นหน้าเจฟฟรี ได้ยินแต่เสียงนาฬิกาปลุกตอนตีสองเพื่อตื่นมาดูดาวเสาร์หรือดวงดาวอื่นๆ"

มาร์ซีจบปริญญาเอกทางด้านดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็ศึกษาต่อเรื่องคุณสมบัติด้านแม่เหล็กของดวงดาว เขาตีพิมพ์บทความเรื่องลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์หลายฉบับแต่ก็ยังไม่พอใจ "ผมถามตัวเองว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่จะดึงดูดผมได้แม้ไม่ได้เป็นนักดาราศาสตร์"

มาร์ซีได้คำตอบในเช้าวันหนึ่งขณะอาบน้ำ นั่นคือคำถามที่ว่าสิ่งมีชีวิตอยู่ที่อื่นอีกไหมในจักรวาล ยังมีดาวเคราะห์ดวงอื่นที่เหมือนโลกเราอีกไหม เขาจึงตัดสินใจจะค้นหาดาวเคราะห์

ขณะนั้นเป็นปี 2526 หนึ่งปีหลังจากภาพยนตร์เรื่อง E.T. ออกฉาย สิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะเป็นสุดยอดความบันเทิง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มักมองอย่างคลางแคลงใจ

การงานของมาร์ซีก็ไม่ก้าวหน้านัก เขาได้งานที่มหาวิทยาลัยของรัฐแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตซานฟรานซิสโก ซึ่งไม่มีชื่อเสียงด้านดาราศาสตร์เลย และกลายเป็นอาจารย์ที่ถูกเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ดูแคลน

คืนหนึ่งระหว่างอาหารเย็นที่หอสังเกตการณ์ เขาบอกบรรดานักดาราศาสตร์ว่ากำลังค้นหาดาวเคราะห์ดวงอื่นอยู่ มีคนกลั้นหัวเราะจนสำลัก ส่วนคนอื่นๆกลับไปสนทนาเรื่องวิชาการตามแบบแผนกันต่อไป

มาร์ซีไม่ย่อท้อ เพราะการพบดาวเคราะห์ดวงใหม่นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ แต่ก่อนอื่น เขาจะต้องสร้างเครื่องมือที่มีความละเอียดกว่าเครื่องมือที่มีอยู่อีกเป็นร้อยเท่า

ลองกลับไปดูมนุษย์ต่างดาวบนดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างไป 30 ปีแสง สมมุติว่าดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์มีเพียงดวงเดียวคือดาวพฤหัส ขณะมนุษย์ต่างดาวมองดวงอาทิตย์นั้น เขาจะไม่เห็นดาวพฤหัส โจทย์ของเขาเหมือนกับของมาร์ซี กล่าวคือ ต้องหาทางพิสูจน์โดยทางอ้อมว่ามีดาวพฤหัสอยู่จริง


แรงดึงดูดมหาศาลของดวงอาทิตย์ดึงให้ดาวพฤหัสโคจรรอบ แต่ดาวพฤหัสก็มีแรงดึงดูดตอบโต้มายังดวงอาทิตย์ด้วย ขณะที่ดาวพฤหัสโคจรไป ดวงอาทิตย์จะถูกดึงไปทางดาวพฤหัสเล็กน้อย มนุษย์ต่างดาวมองไม่เห็นดาวเคราะห์ แต่เขามองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปเล็กน้อย

นั่นเป็นหลักการพื้นฐานในงานของมาร์ซีเขากับพอล บัตเลอร์ เพื่อนร่วมงาน พัฒนาเทคนิคเพื่อตรวจจับปฏิกิริยาของดาวฤกษ์ต่อดาวเคราะห์ขณะโคจร มาร์ซีเรียกการเคลื่อนที่นี้ว่า "การแกว่ง" (Wobble) และตรวจจับการแกว่งโดยศึกษาแสงจากดาวฤกษ์

สิ่งนี้เรียกว่าปรากฏการณ์ดอปเพลอร์ (Doppler effect) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความถี่ของเสียงหรือของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างเช่น เมื่อรถพยาบาลเคลื่อนเข้าหาคุณระดับเสียงหวอจะสูง เมื่อผ่านไปแล้ว ระดับเสียงหวอจะต่ำลง ในตอนแรกคลื่นเสียงถูกบีบตอนหลังจึงถ่างออก คลื่นแสงก็เช่นเดียวกัน

ณะดวงอาทิตย์แกว่งเพราะแรงดึดดูดของดาวพฤหัส คลื่นแสงจะเคลื่อนเข้าหามนุษย์ต่างดาวบ้างและเคลื่อนออกบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ด้วยเครื่องวิเคราะห์แสงที่ละเอียดอย่างของมาร์ซี มนุษย์ต่างดาวจะสามารถจับการแกว่งของแสงจากดวงอาทิตย์ได้และรายงานว่าพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ซึ่งจะทำให้เพื่อนมนุษย์ต่างดาวถึงกับตะลึง

ปลายปี 2538 มาร์ซีกับบัตเลอร์ถูกมิเคล มาร์เยอร์และดิเดรีย เควลอซ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิสซึ่งใช้เทคนิคเดียวกันประกาศตัดหน้าว่าพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวฤกษ์เป็นดวกแรก แต่มาร์ซีเก็บข้อมูลและพัฒนาเครื่องมือมาหลายปี จึงตีตื้นและแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว เขากับบัตเลอร์ประกาศว่าพบดาวเคราะห์สองดวงในต้นปี 2539 และได้รับเกียรติให้เป็นผู้พบดาวเคราะห์สองในสามดวงของบัญชีดาวเคราะห์ อีกสี่ปีต่อมาก็ยังไม่มีใครลบสถิติได้

นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ส่วนใหญ่ยอมรับทฤษฎีการแกว่งโดยอิทธิพลของดาวเคราะห์ที่ยังสงสัยก็ไร้ข้อกังขา ปลายปีที่แล้ว เมื่อมาร์ซีพบดาวฤกษ์ที่มีการแกว่งในระดับที่แสดงว่ามีดาวเคราะห์ดวงใหญ่ซึ่งมีวงโคจรพาดผ่านด้านหน้าของดาวฤกษ์ จึงอาจบดบังแสงของดาวฤกษ์ได้ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของมาร์ซีตรวจพบว่า ความสว่างของดาวฤกษ์ลดลงไปร้อยละ 1.7 ตรงตามเวลาที่คำนวณไว้


นที่สุด วงการดาราศาสตร์ก็ยกย่องมาร์ซี เมื่อปี 2542 กลางปี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กเลย์ แต่งตั้งให้เขาเป็นศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ และยังจะได้เป็นหัวหน้าศูนย์รวมการศึกษาข้อมูลดาวเคราะห์ที่จะตั้งขึ้นในปีต่อมา ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเคมี นักชีววิทยา นักธรณีวิทยา และนักดาราศาสตร์ เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ และแน่นอน ไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดยอมรับว่าเคยเยาะเย้ยผลงานของมาร์ซีมาก่อน

แม้จะได้ดิบได้ดี มาร์ซีก็ไม่ได้หลงระเริงแต่ยังหมั่นสังเกตและแก้ไขเทคนิคตลอดจนข้อมูลของตัวเอง อีกทั้งขยันเผยแพร่ความรู้ใหม่ๆหลังประกาศเรื่องดาวเคราะห์บังแสงดาวฤกษ์ เขาต้องรับโทรศัพท์จากนักข่าวตลอดทั้งวัน บางครั้งเขาไม่ได้กินอะไรเลยกระทั่ง 23.00 น.

แต่ไม่เป็นไรหรอก ซูซาน เคกลีย์ ภรรยาของเขาบอก เพราะมาร์ซีมีความสุข "เขายังคงสงสัยใคร่รู้แบบเด็กๆ นิสัยแบบนี้ที่ดลใจให้เขาหนีบกล้องดูดาวปีนขึ้นหลังคา เพราะดาราศาสตร์เป็นเรื่องสนุกสำหรับเขา" เรามาคอยเฝ้าดูผลงานต่อไปจากการเล่นสนุกของเจฟฟรี มาร์ซีกันเถอะ
ตลาดออนไลน์ !