BumQ 4

เมื่อเขินอายมากเกินไป

ใจเต้นมือสั่นหรือ ?
เรามีวิธีช่วย

เมื่อเขินอายมากเกินไป

เป็นเรื่องน่าทึ่งที่วันนี้เกรซ วัย 32 กล้ามานั่งกินอาหารในร้านเหมือนคนทั่วไป สมัยเรียนเธอไม่กล้าแม้แต่จะเข้าไปในโรงอาหารของโรงเรียนเพราะกลัวจะตกเป็นเป้าสายตาของเพื่อน เธอกลัวหนักขึ้นเรื่อยๆจนอายุ 20 กว่าจะรู้ว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่เรียกว่า "กลัวการเข้าสังคม" (Social Phobia) ทุกวันนี้ เกรซรู้สึกดีขึ้นบ้าง หลังจากได้รับการบำบัดรักษา แต่ยังคงต้องปรับตัวอยู่ เธอกล่าวว่า "ฉันคงกลายเป็นคนละคนถ้าไม่ต้องคอยกลัวเรื่องแบบนี้"

นุษย์เรามีความอายเป็นพื้นนิสัยเดิม เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์บางอย่าง บางคนถึงกับหัวใจเต้นแรง เหงื่อออก ปากแห้ง พูดไม่ออก สมองว้าวุ่น และอยากหนี แม้แต่ประเทศที่ผู้คนกล้าแสดงออกอย่างสหรัฐฯก็ยังพบว่า ความกลัวที่จะต้องเข้าสังคมเป็นอาการผิดปกติด้านจิตใจ ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากอาการซึมเศร้าและติดสุรา

บางคนไม่ยอมใช้ห้องน้ำสาธารณะหรือคุยโทรศัพท์ บ้างก็พูดไม่ออกต่อหน้าเจ้านาย หรือ เพศตรงข้าม คนที่มีอาการรุนแรงมักพยายามหลีกหนีการติดต่อกับบุคคลอื่น

อาการน่าวิตก
ความกลัวในการเข้าสังคมเป็นอาการผิดปกติที่มีมาแต่โบราณกาล แต่เพิ่งจะจัดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตเวชเมื่อปี 2523 ในปัจจุบัน นักจิตวิทยาบางคนเป็นห่วงว่าการใช้อินเทอร์เน็ตจะยิ่งทำให้คนที่เขินอายอยู่แล้วเป็นมากขึ้น "หากเขินอายเป็นทุนอยู่บ้างแล้ว อินเทอร์เน็ตก็จะยิ่งทำให้โอกาสได้พบปะพูดคุยกันน้อยลง" ฟิลิป จี ซิมบาร์โด ศาสตราจารย์ ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าว

แม้บางคนจะส่อเค้าตั้งแต่เกิดว่าเป็นคนขี้อายกว่าปกติ แต่ก็อาจเปลี่ยนไปเมื่อโตขึ้น เจอโรม เคแกน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกว่า ทารกเริ่มแสดงอาการเขินอายหรือกล้าเมื่ออายุ 16 สัปดาห์ หากมีเด็กห้าคน หนึ่งในนั้นจะเมินหน้าหนีหรือร้องไห้เมื่อเห็นของแปลกใหม่ ขณะที่อีกสี่คนจะเอื้อมมือไปหาคนแปลกหน้าหรือคว้าของนั้น อย่างไรก็ดี ทารกที่เขินอายอาจชอบเข้าสังคมเมื่อโตขึ้น ส่วนทารกที่กล้าแสดงออกอาจกลายเป็นคนขี้อายและเป็นหนักถึงขั้นไม่กล้าเข้าสังคม

ประสบการณ์ในชีวิตจะหล่อหลอมเราให้กลายเป็นคนขี้อายมากขึ้นหรือน้อยลงตามเวลาที่ผ่านไป นักจิตวิทยาชี้ว่า สมองจะรับรู้ความกลัวโดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ฝังใจแต่ละอย่าง (สถานที่ เวลา เพลง ฯลฯ) เช่น เมื่อนักเรียนถูกครูดุ ก็จะประหม่า เมื่อเข้าเรียนกับครูคนนั้นในครั้งต่อไป แต่บางครั้ง สมองก็เชื่อมโยงเหตุการณ์ดีเกินไปจนทำให้นักเรียนกลัวทุกครั้งไม่ว่าจะเข้าเรียนห้องไหนหรือพบครูคนใด

เด็กที่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อแก้ "ความกลัวที่อยู่ในใจ" เช่นนี้ มักจะหาทางออกด้วยการนิ่งเงียบ มอยรา รีน นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย บอกว่า เด็กอาจไม่ชวนเพื่อนมาบ้าน ไม่ไปโรงเรียนหรือเลือกคุยกับเพื่อนเพียงบางคน ซึ่งยิ่งจะทำให้เด็กมีปัญหามากขึ้นเพราะไม่ได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคม


พ่อแม่ก็มีส่วน
พ่อแม่ที่ชอบตำหนิติเตียนอาจทำให้ลูกกลายเป็นคนขี้ขลาด แต่พ่อแม่ทีอ่อนโยนก็อาจเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กขี้กลัวได้เหมือนกัน ริชาร์ด เฮมเบิร์ก ผู้อำนวยการคลินิกผู้ป่วยทางจิตแห่งมหาวิทยาลัยเทมเพิล เมืองฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า "หากพ่อแม่ไม่ยอมเข้าสังคมหรือมัวแต่กลัวเกินเหตุว่าเพื่อนบ้านจะคิดยังไง ลูกอาจตีความว่าโลกนี้ช่างโหดร้ายและมีเรื่องทำให้อับอายขายหน้า" 
ราวครึ่งหนึ่งของคนที่กลัวการเข้าสังคมจะแสดงอาการตั้งแต่อายุ 8 ขวบ และที่เหลือเริ่มมีอาการเมื่อเป็นผู้ใหญ่ บางคนไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาจะกระทั่งได้เข้าสังคมใหม่ๆ เช่น มหาวิทยาลัย หรือ ที่ทำงานใหม่ เชื่อกันว่า ผู้หญิงมีปัญหาการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายหาทางแก้ไขมากกว่าและสังคมตีตราว่าผู้ชายไม่ควรเป็นคนขี้อาย

สตีฟ ฟอกซ์ เป็นคนขี้อายมากเมื่อเรียนชั้นมัธยมจนเพื่อนผู้หญิงชอบแกล้งทักเพื่อจะได้เห็นหน้าเขาแดงก่ำ เขาไม่ยอมพูดคุยในชั้นเรียนและเหงื่อชุ่มฝ่ามือทุกครั้งที่เดินผ่านเพื่อน พอสตีฟอายุ 19 พ่อเริ่มวิตกจนต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งให้การรักษาจนหายขาด ขณะนี้สตีฟอายุ 24 เขาไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าฝูงชน 1,700 คน และได้แต่งงานกับเชียร์ลีดเดอร์ซึ่งเคยล้อเขา

ความตื่นตระหนกก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนเรากลัวการเข้าสังคม และอาจรู้สึกเช่นนั้นในช่วงนาทีแรกที่ขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ จากนั้นก็จะค่อยๆดีขึ้นจนหายไปในไม่ช้า แต่คนที่มีปัญหาอาจจะสั่นอยู่นานเป็นชั่วโมง จนกระทั่งร่างกายเหนื่อยล้าไปเอง นักพฤติกรรมบำบัดมักสอนให้คนประเภทนี้ กล้าเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จนอาการต่างๆหายไปในที่สุด แล้วจะรู้เองว่าไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างทีคิด


พบคนแปลกหน้า

เมลินดา สแตนเลย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและพฤติกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทกซัส รักษาด้วยการพาคนไข้ไปหอประชุมเป็นแห่งแรก เพื่อให้ฝึกพูดสั้นๆต่อหน้าผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ "บางคนยืนอยู่นาน แต่ในที่สุดความกลัวว่าผู้ฟังจะมองเขาอย่างไรก็หายไปเอง" สแตนเลย์ กล่าว บางคนใช้วิธีบำบัดด้วยการฝึกคนไข้กับสถานการณ์ที่ทำให้เขินอาย เช่น เดินผ่านคนกลุ่มใหญ่ในห้องโถงโรงแรม
บางครั้งความกลัวเข้าสังคมเกิดจากนิสัยไม่ค่อยชอบพูดคุย นักบำบัดจึงต้องช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคม เช่น คนที่เขินอายมากๆมักไม่กล้าทักทายผู้คนที่พบปะในสังคมและเป็นคนประเภทถามคำตอบคำ "ผมคิดไว้แล้วว่าจะไม่เดินหนี แม้คู่สนทนาจะทำท่าไม่สนใจสิ่งที่ผมพูดตั้งแต่ประโยคแรก" ริก รอบบินส์ วัย 32 ซึ่งเคยกลัวการเข้าสังคมจนต้องออกจากมหาวิทยาลัย กล่าว "ทุกวันนี้ก่อนออกจากบ้าน ผมจะเตรียมหัวข้อสนทนาสักสี่ห้าเรื่องไว้พูดคุย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทั่วไป"
 
เบอร์นาโด เจ คาร์ดุซซิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความเขินอาย มหาวิทยาลัยอินดีแอนา เชื่อว่า การเบนความสนใจออกจากตัวเองเป็นการบำบัดที่ดีสำหรับคนเขินอาย เขาหาทางให้คนไข้เลิกหมกมุ่นกับตนเองด้วยการส่งไปอยู่ในครัว โรงพยาบาล และสถานพักพื้นต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่รอบบินส์เห็นว่าได้ผล เพราะ "ได้เห็นว่าคนอื่นก็ขี้อายพอๆกัน คนไข้จึงไม่รู้สึกว่าแตกต่างไปจากคนอื่น"

ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจต้องใช้ยาช่วย แม้ปัจจุบันจะยังไม่มียาที่ได้ผลเต็มร้อย อย่างไรก็ดี ลิน เฮนเดอร์สัน ผู้อำนวยการคลินิกความเขินอายที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เตือนว่า ยามีผลช่วยบำบัดชั่วคราวเท่านั้น และกล่าวว่า "คนไข้มักอาการทรุดลงเมื่อหยุดยา" การวิจัยชี้ว่า ในระยะยาว การบำบัดจะช่วยคนไข้ได้มากกว่า

นักบำบัดส่วนใหญ่กล่าวว่า หากภาวะกลัวการเข้าสังคมไม่หนักถึงกับกลัวไปเสียหมด ก็ยังไม่น่าเป็นห่วงนัก บุคคลโด่งดังในประวัติศาสตร์ เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็เป็นคนขี้อาย คนที่เขินอายเล็กน้อยน่าจะจัดได้ว่าเป็นคนอ่อนไหว มีนิสัยเห็นอกเห็นใจเข้าใจ และหยั่งรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งล้วนเป็นคุณสมบัติที่ไม่น่าอายเลยแม้แต่น้อย

ระดับของความอาย
อายปกติ
ประหม่าเมื่อเริ่มพูด แต่หลังจากนั้นจะดีใจที่ทำได้ แรกๆอาจไม่รู้ว่าจะพูดอะไร จากนั้นค่อยๆเริ่มพูดได้ ฝ่ามือชุ่มเหงื่อขณะสัมภาษณ์งาน แต่ก็ตอบคำถามได้อย่างดี

อายระดับรุนแรง
หัวใจเต้นแรงเมื่อรู้ว่าคนอื่นกำลังมองอยู่ ตัวสั่นเมื่อต้องพูดในที่ประชุม แม้แค่บอกชื่อตัวเอง หลีกเลี่ยงการสนทนาเพราะกลัวจะพูดอะไรเปิ่นๆ

ภาวะกลัวการเข้าสังคม
ทำทุกอย่างเพื่อเลี่ยงการแนะนำให้รู้จักคนแปลกหน้า กลืนลำบากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะจนกินอาหารนอกบ้านไม่ได้ รู้สึกว่าไม่มีทางสร้างความประทับใจ และเชื่อว่าตนเองเข้าสังคมไม่เก่ง

ภาวะกลัวการเข้าสังคมขั้นรุนแรง

เป็นปกติเมื่ออยู่คนเดียว ไม่กล้าออกนอกบ้านไปพบปะคนอื่น กังวลตลอดเวลาว่าคนอื่นจะทำให้ตัวเองอับอายขายหน้า เมื่อเผชิญกับความตกใจกลัว จะหลีกหนีไม่พูดคุยกับคนอื่น
ตลาดออนไลน์ !