ตามความเชื่อของคนไทย ช้างเผือกเป็นตัวแทนของช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างทรงสามเศียรของพระอินทร์ กฎหมายบัญญัติว่าต้องนำช้างเผือกทุกเชือกในราชอาณาจักรขึ้นถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่การขึ้นเป็นช้างระวางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีผิวสีขาวผ่องแล้ว ยังพิจารณาคชลักษณ์อื่นๆประกอบด้วย เช่น เสียงไพเราะ หางสวยงาม งวงยาวได้สัดส่วน เป็นต้น
ชนพื้นเมืองอีกเผ่าที่สืบทอดความชำนาญในการดูแลช้างไม่แพ้ชาวกะเหรี่ยง คือ ชาวส่วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเล่าขานกันว่าเชี่ยวชาญในการคล้องช้างป่ามาฝึกใช้งาน ทุกปี ชาวส่วยจะเดินทางเข้าไปในป่าลึกเขตประเทศกัมพูชา มีเพียงท่อนไม้ไผ่และเชือกเป็นเครื่องมือจับช้างตัวใหญ่ๆ การคล้องช้างด้วยวิธีนี้เลิกไปประมาณ 40 ปีแล้ว นับแต่พื้นที่ป่าซึ่งมีช้างชุกชุมในกัมพูชากลายเป็นสนามรบเพราะน้ำมือของกลุ่มเขมรแดง
ที่ร้านขายเหล้าริมหาดหัวหิน ช้างเชือกหนึ่งใช้งวงโอบนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะที่ควาญตื้อให้เขาซื้อแตงกวาถุงเล็กๆไปป้อนช้างตัวมหึมา ภาพเช่นนี้ยังมีให้เห็นในกรุงเทพฯทั้งที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ช้างเข้ามาเดินเพ่นพ่านในเขตเมือง แต่เจ้าหน้าที่มักจะเมินกับปัญหานี้ ดังนั้นจึงมีช้างเดินตุหรัดตุเหร่ในย่านการค้าหลักอย่างถนนสีลม หรือซอกแซกไปตามแหล่งโลกีย์บนถนนพัฒน์พงศ์หรือแม้แต่บริเวณห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านชานเมืองอย่างฟิวเจอร์พาร์ก
ถัดจากฟิวเจอร์พาร์กไปชั่วเดินไม่กี่อึดใจก็จะพบกับหมู่บ้านเล็กๆมีสะพานไม้ข้ามคลอง ในหมู่บ้านมีวัดซึ่งเป็นแหล่งพักพิงของช้างชราชื่อพลอย เจ้าของทิ้งมันไว้ที่นี้หลายปีแล้ว และมันอาจจะต้องอยู่ที่นี่ไปจนตาย "น่าสงสารมาก" สามเณรรูปหนึ่งบอก "ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเราแท้ๆ"
พลอยเป็นช้างขี้เล่น มันใช้งวงหยิบของเล่น ซึ่งเป็นยางล้อรถเก่าๆมาดึงเล่นด้วยขาหน้า "เหมือนเป็นตุ๊กตาของมัน" เด็กชาวบ้านบอก "และถ้าใครแย่งไป มันก็จะร้องไห้"